ลิงค์ภายใน
วารสารจิตอาสา
เว็บไซต์เพื่อนบ้าน
อุตุ
Clock
1669
จากสมาชิกจิตอาสา
“ดีใจที่ได้มาทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงพยาบาล ได้รับการชื่นชมจากผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ รู้สึกดี ภูมิใจที่ได้มาเป็นจิตอาสา” (53 ปี จิตอาสาหญิง)
“ชื่นชมโครงการนี้มาก ผู้ป่วยชอบ เจ้าหน้าที่ก็ชอบ โดยเฉพาะกิจกรรมร้องเพลงของเยาวชนจิตอาสา มีการขอเพลง มาร้องเพลงร่วมกัน” (62 ปี เกษียนราชการชาย)
“เสนอให้มีสถานที่เก็บข้อมูลเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ เป็นแหล่งนัดพบของผู้ป่วย เป็นแหล่งให้ความรู้แก่อาสาสมัคร และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง” (62 ปี เกษียนราชการชาย)
“ควรมีการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปได้รู้จักโครงการ” (32 ปี จิตอาสาชาย)
“เคยเข้าไปเยี่ยมผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ได้ให้กำลังใจแก่คนเหล่านั้น ทำแล้วรู้สึกดี ดีใจ และภาคภูมิใจที่ได้มาทำงานนี้ มีคนชื่นชมแล้วทำให้มีพลัง แม้บางครั้งจะได้รับการต่อว่า(จากผู้ติดสุรา) แต่ก็จะทำต่อไป ” (54 ปี อสม . หญิง)
“มาทำงานจิตอาสาแล้วก็รู้สึกดี ทำแล้วรู้สึกภูมิใจ ได้บุญ ช่วยให้กำลังใจ” (40 ปี อสม . หญิง)
จากผู้รับบริการ
จากการสอบถามกลุ่มผู้ป่วยและยาติที่ได้ร่วมกิจกรรมของโครงการจิตอาสา มิตรภาพบำบัด พบว่า ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ทำให้มีกำลังใจ บางครั้ง รู้สึกผ่อนคลายความทุกข์ ความกังวล เมื่อมีคนมาพูดด้วย บางคนชอบกิจกรรมดนตรีบำบัดที่เยาวชนจิตอาสานำมาเล่นให้ฟัง ทำให้คลายเครียดได้
จากบุคลากร
โครงการมิตรภาพบำบัดและกิจกรรมของสมาชิกจิตอาสาของผู้ป่วยแต่ละกลุ่มโรคเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ทำให้การดูแลผู้ป่วยมีความเป็นองค์รวมมากขึ้น ซึ่งบางครั้งด้วยภาระงานที่มากอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีเวลาที่จะทำเมื่อมีสมาชิกจิตอาสาที่บางคนมีความรู้ มีประสบการณ์ตรง ได้มีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้คำแนะนำในการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วย เกิดการพึ่งพาตนเองและสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้
เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างชุมชน ผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรสุขภาพ ก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบงานสุขภาพของโรงพยาบาลให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
ทำให้ได้เครือข่ายการทำงานการดูแลต่อเนื่องในชุมชน (After care)
จากผู้บริหารการพยาบาล และผู้บริหารโรงพยาบาล
เป็นโครงการที่ดี ทำให้ผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว และชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพด้วยความเอื้ออาทร การให้กำลังใจ และการสร้างพลังใจให้แก่กัน สามารถสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มุ่งเน้นการดุแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
เรื่องเล่าจากสมาชิกจิตอาสา ผู้ป่วยและญาติ ผู้ให้บริการ
เหตุการณ์ความประทับใจของเจ้าหน้าที่แผนอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน โรงพยาบาลจอมทอง
ศูนย์ประสานงานส่งต่อของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประสานมาที่แผนอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลจอมทองว่าขอรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสันป่าตองได้หรือไม่ เป็นผู้ป่วยชายไทยวัย 87 ปี โรคถุงลมปอดอุดตันเรื่อรัง และภาวะลมหายใจล้มเหลวใส่ท่อช่วยหายใจ (COPD c respiratory failure),On ET Tube)โดย ICU โรงพยาบาลสันป่าตอง นครพิงค์ และมหาราชฯ เต็มหมด (ซึ่งขณะนั้น หอผู้ป่วยหนัก, หอผู้ป่วยในชาย เต็มเช่นกัน ) ยกเว้นเอกชน ซึ่งญาติต้องชำระเงินเองไม่สามารถเบิกคืนได้ทั้งหมด ซึ่งถ้าในจังหวัดไม่มีเตียงให้นอน จะต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลต่างจังหวัด หลังจากนั้นทีมงานอุบัติเหตุฉุกเฉินได้ปรึกษาแพทย์ อายุรกรรม ได้รับ ผู้ป่วยรายนี้ไว้โดยให้ย้ายผู้ป่วยจาก ICU ออกไปนอน หอผู้ป่วยในชั้น 2 โดยทางโรงพยาบาลสันป่าตอง ได้บอกอาการผู้ป่วยพร้อมแจ้งให้ทราบว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นญาติของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสันป่าตอง
01.50น. รับผู้ป่วยมาถึง ผู้ป่วยหายใจเหนื่อย on ET tube สัญญาณชีพรับT 37.5 .C PR = 100/min RR = on ET Tube BP 130/ 70 mmHg .SpO2 95% แพทย์เวรเยี่ยมอาการให้ Admit ICU ได้ระหว่างรอการประสานงานและย้ายผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินไป ICU ใช้เวลา ประมาณ 1 ชม.ให้บีบ Ambu Bag รอใน ER รอClear เตียง
จากการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยนอนใน ICU
ความประทับใจในผู้ป่วย คือการประสานงานเรื่องการส่งต่อ โดยสามารถจัดการกับปัญหาของญาติและผู้ป่วย ซึ่งรายนี้มีสิทธิบัตร เบิกได้ส่วนราชการ ถ้าไม่สามารถเจ้ารับการรักษาของโรงพยาบาลรัฐบาลได้ ก็ต้องไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลเอกชน จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งของญาติ โดยงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน ได้คำนึงถึงการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายจิตใจของผู้ป่วยและญาติ ส่งผลให้ลดความวิตกกังวลของญาติ ส่งผลให้ลดความวิตกกังวลของญาติได้มาก ญาติแสดงความขอบคุณและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจอมทองทุกแผนกที่เกี่ยวข้องเป็นอย่ามาก
เรื่องเล่ากิจกรรมบำบัด งานกายภาพบำบัด
งานกิจกรรมบำบัดเป็นงานที่ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยและกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ามารับบริการเป็นผู้ป่วยเด็กและเป็นหนึ่งใน case ของกลุ่มเด็กเหล่านี้ ที่ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจและเป็นความภาคภูมิใจของข้าพเจ้า ผู้ป่วยที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงในที่นี้เป็น ผู้ป่วยเด็กเพศชาย อายุประมาณ 13 ปี เป็นเด็กพิการทางสมองหรือเรียกสั้นๆ ว่าเด็ก CP ผู้ป่วยรายนี้ได้เข้ามารับบริการเป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลจอมทองแห่งนี้ใหม่ๆ อีกทั้งเป็นผู้ป่วย CP รายแรกที่ข้าพเจ้าได้ทำการบำบัดรักษา ซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า ผู้ป่วย CP ส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นช้า เนื่องจากมีภาวะรอยโรคที่สมองอีกทั้งยังมีอาการแข็งเกร็ง ( spasticity)หรือ อ่อนลีบ (flaccid) ร่วมด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคในการฝึก
ครั้งแรกที่พบกัน ผู้ป่วยมีอาการเกร็งร่วมด้วย อยู่ในระดับปานกลางหรือเรียกว่า Moderate spasticity อีกทั้งผู้ป่วยเป็นเด็กโต จึงฝึกได้ค่อนข้างยากกว่าในเด็กเล็ก เนื่องจากในเด็กเล็กน้ำหนักตัวน้อยและการฝึกก็เห็นผลได้เร็วกว่าในเด็กโต อาการโดยรวมต่อมาคือ ผู้ป่วยลุก–นั่งหรือนั่งเองไม่ได้ ไม่ยอมใช้มือข้างที่เกร็งหยิบจับหรือทำกิจกรรมอะไรเลย เกาะยืนก็ไม่ได้เนื่องมีอาการเกร็ง ผู้ปกครองและข้าพเจ้าได้ตั้งเป้าหมายร่วมกันในตอนแรกก็คือ ให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุดตามสภาวะโรคของเด็ก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นภาระแก่ผู้ปกครองให้น้อยที่สุด ซึ่งเมื่อได้เข้ามารับการฝึกกิจกรรมบำบัดอย่างต่อเนื่อง พบว่าอาการโดยรวมเริ่มดีขึ้นมาตามลำดับ อาการเกร็งที่แขนและขาเริ่มลดลง สามารถลุกนั่งได้เองและนั่งเองได้มั่นคงขึ้น เริ่มลงน้ำหนักที่เท้าได้ เกาะยืนได้โดยมีคนคอยช่วยเหลือ ใช้มือทั้งสองข้างทำงานร่วมกันและสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น การช่วยเหลือจากผู้ปกครองก็ลดน้อยลง เป็นที่ประทับใจและพึงพอใจเป็นอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญในการฝึกผู้ป่วยนั้นนอกจากอยู่ที่ผู้บำบัดแล้วยังอยู่ที่ตัวเด็กและผู้ปกครองด้วย หากให้การบ้านไปแล้วเด็กไม่ยอมทำหรือผู้ปกครองไม่สนใจก็ยากที่จะสำเร็จได้ ดังนั้นจึงเกิดจากความร่วมมือของทั้งสามคนร่วมกัน ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยได้เข้ามาทำการรักษามีอาการดีขึ้นตามลำดับและตรงตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ผู้ป่วยรายนี้สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองมากขึ้น เด็กเกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นว่าตนเองก็สามารถทำอะไรได้เหมือนดังเช่นเด็กปกติทั้งหลาย ซึ่งทุกวันนี้ถึงแม้ว่าผู้ป่วยรายนี้จะเดินเองยังไม่ได้แต่ก็สามารถไปเรียนหนังสือร่วมกับเด็กปกติอื่นๆได้โดยใช้ ล้อเข็น ซึ่งตรงกับงานของเด็กในวัยนี้คือการเรียนหนังสือ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วนี้ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจและประทับใจที่สามารถช่วยให้เด็กคนนี้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเช่นเด็กปกติ อีกทั้งสามารถช่วยลดภาระและลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ต้องนำเด็กไปฝึกในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งต้องเสียทั้งค่าใช้จ่ายและเสียเวลาไปด้วย
ความพึงพอใจของผู้เข้ารับบริการ
ข้าพเจ้าปฏิบัติงาน ณ. จุดซักประวัติ ก่อนทำการรักษา ได้มีผู้ป่วยชื่อนาย กอ(นามสมมุติ) อายุ 65 ปี มารับการรักษาทางทันตกรรมด้วยอาการปวดฟันกรามล่างขวา ข้าพเจ้าได้อธิบายถึงวิธีการรักษาทางทันตกรรมโดยระเอียดให้ผู้ป่วยทราบ และได้พิจารณา x-ray ฟันซี่ 46 หลังจากนั้นข้าพเจ้าได้ให้คำแนะนำในการรักษาโดยแบ่งเป็น 2 วิธีคือ
1.การถอนฟัน
2.การรักษาคลองรากฟัน
ผู้ป่วยมีประวัติมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน รับยาตลอด และสิทธิการรักษาคือ เบิกได้จ่ายตรง จากนั้นทันตแพทย์หญิง ได้ตรวจทางคลินิคและให้คำแนะนำขั้นตอนการรักษา วิธีการรักษาคลองรากฟัน ค่าใช้จ่ายในการรักษาคลองรากฟันโดยละเอียด
ในวันนั้นผู้ป่วยตัดสินใจรับการรักษา( รักษาคลองรากฟันซี่ 46 ) ทันตแพทย์หญิงจึงให้ยาบรรเทาอาการปวดฟัน และออกวันนัดในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 เวลา 13.00 น.
ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาตามวันนัดในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 เวลา 13.00 น. ในการมารับบริการทุกครั้งผู้ป่วยจะได้รับการตรวจคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ ณ. จุดคัดกรอง ก่อนเข้ารับบริการ เช่น การวัดความดันโลหิต ซักถามถึงอาการ โรคประจำตัวของผู้ป่วย ยาที่รับประทานเป็นประจำ มีการปฏิบัติสม่ำเสมอจนเสร็จสิ้นการรักษา ก่อนรับการรักษา ระหว่างการรักษา จนเสร็จสิ้นการรักษาผู้ป่วยมีความประทับใจในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสในการให้บริการ ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา หากมีปัญหาให้กลับมาได้ตลอดและอธิบายเรื่องสิทธิการรักษาอย่างชัดเจน ได้ให้ทางเลือกในการรับการรักษา ซึ่งผู้ป่วยมีความประทับใจเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยเองก็ดีใจที่ไม่ต้องถอนฟัน สามารถเก็บรักษาฟันไว้ใช้เคี้ยวอาหารได้ หากเจ้าหน้าที่ไม่อธิบายโดยละเอียดผู้ป่วยอาจพิจารณาถอนฟัน ( ผู้ป่วยบอกว่าหากรับการรักษาที่สถานบริการอื่นคงได้ถอนฟันไปแล้ว และอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคประจำตัว ที่สำคัญคือฟันหลอ เคี้ยวอาหารไม่ได้หรือเคี้ยวอาหารได้แต่ไม่ละเอียด )
ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกดีใจมากที่ได้ใช้วิชาชีพที่เรียนมา การให้บริการของตนเองและการให้บริการของหน่วยงานสามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดความพึงพอใจ และมีความสุขที่เข้ารับบริการ สามารถเก็บรักษาฟันไว้เคี้ยวอาหาร
จุดเปลี่ยนชีวิตใหม่
พ.ต.กอ(นามสมมุติ) อายุ 76 ปี ผมไม่เคยลืมงานการแพทย์ทางเลือก คนที่ดูแลและบำบัดให้ผมทั้งแพทย์พยาบาล รวมทั้งทีมงานและ เจ้าหน้าที่งานการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลจอมทอง ที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตผม
ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า แพทย์ทางเลือกของโรงพยาบาลจอมทอง ผมได้ยินจาก เพื่อนภรรยาของผม ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำผม ภรรยาของผมจึงอยากให้มาบำบัดรักษา ที่แพทย์ทางเลือกของโรงพยาบาลจอมทอง
ผมป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ เมื่อ วันที่ 8 มกราคม 2551 แขน ขา ซีกซ้ายอ่อนแรง เดินตัวสั่น กระย่อง กระแย่ง ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด พูดช้า นอนหลับตลอด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ผมได้ไปตรวจรักษาที่ ร.พ.เอกชน ในจังหวัดนครสวรรค์ คุณหมอบอกว่าเป็นไขมันอุดตันในสมอง หลังจากนั้นคุณหมอที่ ร.พ.เอกชน ก็ได้ส่งตัว ไปรับการรักษาต่อที่ ร.พ. สวรรค์ประชารักษ์ ผมได้รับการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ คุณหมอประจำโรงพยาบาลบอกว่า ไขมันอุดตันในเส้นเลือดในสมองซีกขวา และคุณหมอให้การรักษาโดยให้ยาละลายลิ่มเลือด พร้อมทั้งให้กินยาลดความดัน และยาไขมันในเส้นเลือดสูง ผมจึงได้นอนรับการรักษา อยู่ที่ร.พ. สวรรค์ประชารักษ์ 4 วัน อาการเริ่มดีขึ้น ผมจึงเริ่มเดินได้บ้าง แต่ยังเดินไม่มั่นคง พูดยังไม่ชัด แขนและ ขาซีกซ้ายยังอ่อนแรงอยู่ จึงกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน
อยู่มาวันหนึ่ง มีเพื่อนของภรรยาผม ได้โทรศัพท์มาคุยกับภรรยาผม ภรรยาผมได้เล่าอาการที่ผมเป็นให้เพื่อนเขาฟัง เพื่อนของเขา ถึงกับน้ำตาไหล ด้วยความรักและเป็นห่วงในตัวผม สภาพจิตใจของผมและครอบครัวในตอนนั้นมีความวิตกกังวลว่าตัวเองคงไม่มีวันหาย
ผมขอย้อนไปเล่าเรื่องเพื่อนภรรยาผม เพื่อนภรรยาผมเป็นโรคความดันโลหิตสูง ปวดหลัง ปวดเข่า นั่งก้มตัวได้น้อย เอวแข็ง เดินไม่สะดวก ต้องช่วยพยุงเดินเป็นบางครั้ง กินยารักษามาหลายแห่งแล้ว แต่อาการก็ยังเป็นๆหายๆ พอเพื่อนภรรยาของผมได้มาบำบัด รักษาที่แพทย์ทางเลือกของโรงพยาบาลจอมทอง แล้วได้ปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ ยืดออกกำลังกายทุกวัน ปัจจุบันเพื่อนของภรรยาผมมีสุขภาพร่างกายดีขึ้นมาก เดินระยะไกลได้ ยากระดูกที่เคยกินปัจจุบันก็งดกินหมด เนื่องจากสภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นมาก จึงได้แนะนำผมและภรรยาให้มารับการรักษาที่ โรงพยาบาลจอมทอง
หลังจากที่เพื่อนและภรรยา ได้แนะนำให้มารับการรักษา ที่แพทย์ทางเลือกโรงพยาบาลจอมทอง จ.เชียงใหม่ ผมและภรรยาของผมจึงตัดสินใจ เตรียมตัวเดินทางออกจากบ้าน นครสวรรค์ เพื่อมุ่งหน้ามารับการบำบัดรักษา โดยการแพทย์ทางเลือกของโรงพยาบาลจอมทอง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2551
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นวันแรก ที่ผมและภรรยาของผมได้มาถึง โรงพยาบาลจอมทอง พอมาถึงประตูทางเข้าของ โรงพยาบาลจอมทอง ก็มียามหน้าประตูมาต้อนรับ ช่วยเก็บข้าวของ กระเป๋า และยังมีพนักงานเปลของโรงพยาบาล เอาล้อเข็นมารับผมจากบันได เพื่อไปยังคลินิกแพทย์ทางเลือก พอมาถึงคลินิกแพทย์ทางเลือก มีเพื่อนพร้อมสามีของภรรยาผม ได้มาคอยรับผม พอเขาเห็นสภาพอาการของผม เขาตกใจมาก ถึงกับร้องไห้น้ำตาไหล เขาไม่คิดว่าตัวผมจะเป็นมากขนาดนี้ หลังจากนั้นมีทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่แพทย์ทางเลือก มาต้อนรับด้วยความอบอุ่นใจ มีการซักประวัติ ชั่งน้ำหนัก และวัดความดัน หลังจากนั้นจึงพาผมไปแช่เท้าด้วยน้ำสมุนไพร เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มีเจ้าหน้าที่หมอนวด พาผมมาเปลี่ยนเสื้อผ้าของโรงพยาบาล แล้วก็พาผมไปประคบสมุนไพร ตรวจสมดุลโครงสร้างต่างๆ และยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย ที่งานการแพทย์ทางเลือกขอโรงพยาบาลจอมทองได้จัดไว้ให้ หลังจากนั้นก็ได้รับการตรวจรักษาตามแผนการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ได้ทำการตรวจร่างกายและบำบัดรักษา ตามแผนการรักษาของแพทย์ทางเลือก ผมมาวันแรก แขน ขา ซีกซ้ายของผมยังไม่ค่อยมีแรง ผมยังถือจานข้าวและแก้วน้ำไม่ได้ จะต้องมีพยาบาล และภรรยาของผม คอยดูแลช่วยเหลือ เวลาผมเดินเข้าห้องน้ำ ต้องคอยประคับประคองอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน
พอเข้าสู่วันที่ 2 คือวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2551 ผมตื่นเช้ามาพร้อมกับเสียงหวานๆของพยาบาลเวรดึก ผ่านเสียงตามสาย ซึ่งปลุกผมตั้งแต่ ตีสี่ครึ่ง ผมเริ่มเช้าวันใหม่ด้วยการออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายก่อนลุกจากที่นอน แล้วทำกิจกรรมต่ออีกมากมายในวันนี้ ผมเริ่มตั้งจิตอธิฐานว่าขอให้ตัวของผมดีขึ้น เรื่อยๆ เมื่อผมได้มาพบกับสิ่งที่ดีๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ผมพยายามทำทุกอย่างตามที่ คุณหมอ และ พยาบาลแนะนำ ผมรู้สึกได้ว่าสภาพร่างกายของผมดีขึ้น ผมเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และที่สำคัญแขน ขา เริ่มรู้สึกว่ามันจะมีแรงมากขึ้น
2 วันผ่านไป เริ่มเข้าสู่วันที่ 3 แขนขา ของผมเริ่มมีแรงมากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าเดิม ผมสามารถเดินเข้าห้องน้ำได้เอง ถือจานตักข้าวใส่ปากได้เอง หลังจากที่ไม่ได้ทำด้วยตนเองมานาน การพูดของผมเริ่มดีขึ้น ฟังรู้เรื่องขึ้น ภรรยาของผมและสมาชิกร่วมรุ่นทุกคนต่างก็ดีใจกับผม เพราะอาการของผมดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถเดินเหินได้
วันที่ 5 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุด การบำบัดรักษาสุขภาพของแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลจอมทอง หลังจากนั้นผมและภรรยาของผม ต้องเตรียมตัวออกจากโรงพยาบาล แต่ยังไม่ได้กลับบ้านที่นครสวรรค์ เนื่องจากเพื่อนของภรรยาผม พาไปพักอยู่ที่บ้านใน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีก 1 อาทิตย์ ซึ่งในระหว่างที่ผมได้พัก อยู่ใน อ. แม่สะเรียงนั้น ผมก็ได้ปฏิบัติตัวตามที่คุณหมอสอนอย่างเคร่งครัด โดยได้ออกกำลังกาย และทานอาหารสุขภาพ หลักการสร้างสุขภาพ 5 อ. คือ เรื่อง อาหาร , อากาศ , อารมณ์ , อิริยาบถ , และการออกกำลังกาย ทำทุกอย่างตามที่โรงพยาบาล และคุณหมอแนะนำ อาการผมก็ดีขึ้นเรื่อยๆ 1 อาทิตย์ผ่านไป ผมกลับบ้านที่นครสวรรค์ ลูกๆ และญาติพี่น้องของผม ต่างดีใจที่อาการของผมดีขึ้นกว่าเดิม ผมก็ยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำมาเรื่อยๆ ทุกวัน ไม่มีวันหยุด จนปัจจุบันอาการของผมหายเป็นปกติ ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าผมจะหายเป็นปกติได้ พอกลับมาบ้าน เพื่อนๆ ก็มาเยี่ยมผม เห็นสภาพอาการของผมดีขึ้น ทั้งการพูดและการเดิน เพื่อน ผม บอกว่า”ทำไมผมหายเร็วขึ้นขนาดนี้” และถามว่า “ไปรับการบำบัดรักษาที่ไหนมา” ผมก็บอกเขาไปว่า มาบำบัดรักษาที่แพทย์ทางเลือกโรงพยาบาลจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากแนวคิด ไว้กับทุกๆคนที่รักสุขภาพ และป่วยเป็นโรคที่ผมเป็นและยังไม่เป็นโรค ผมอยากแนะนำ ให้หันมาใช้วิธีการบำบัดรักษาโดยแพทย์ทางเลือก โดยวิธีการรักษาของแพทย์ทางเลือกเป็นการรักษาแบบไม่ใช้ยา ผมถือว่าแพทย์ทางเลือก คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของผม ทำให้ผมรู้สึกเหมือนได้แล้วเกิดใหม่จริงๆ และอีกทั้งภรรยาของผม ก็มีผลพลอยได้จากการมาบำบัดรักษาของผมในครั้งนี้ ซึ่งอาการที่ภรรยาผมเป็นอยู่คือ เป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาท มีอาการปวดหลัง ปวดบั้นเอว ร้าวลงขา ถึงปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง และมีอาการชาเท้าร่วมด้วย เมื่อได้มาบำบัดรักษา ไปพร้อมกับตัวผมทำให้อาการของภรรยาของผมที่เป็นอยู่หายเป็นปกติ ผมและภรรยาขอขอบพระคุณ คุณหมอ และทีมงานการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลจอมทองทุกท่าน ที่ได้ให้ชีวิตใหม่แก่ผม แก่ครอบครัวของผม ทำให้ผมไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว ถ้าผมไม่ได้รับการบำบัดรักษาที่แพทย์ทางเลือก คงจะไม่หายเป็นปกติแบบนี้ เดี๋ยวนี้อาการของผมดีขึ้นมาก เท่ากับคนปกติแล้ว
ผมและครอบครัว จึงตั้งใจว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำ อย่างต่อเนื่อง โดยจะใช้หลักสมดุล และ ผ่อนคลาย และการสร้างสุขภาพ 5 อ. เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น และเพื่อเป็นการตอบแทน และเป็นการขอบพระคุณ งานการแพทย์ทางเลือกของโรงพยาบาลจอมทอง ตลอดไป
ขอบคุณรอยยิ้ม
ทุก ๆช่วงเวลาของการทำงานในโรงพยาบาลเราจะพบกับเรื่องราวมากมายในแต่ละวันและสิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งหรือส่วนใหญ่ อาจจะมากกว่า 80% ด้วยซ้ำไปคือการต้องพบกับสีหน้าของผู้มารับบริการที่เต็มไปด้วยความกระวนกระวายใจ ใบหน้าที่บึ่งตึง ด้วยความเจ็บปวด ทรมาน หรือแม้แต่คราบแห่งรอยน้ำตาบนใบหน้า น้อยครั้งที่เราจะพบรอยยิ้มจากผู้มารับบริการ แต่รอยยิ้มนั้นหาได้ไม่ยากเลยสำหรับคุณป้ากัลยา ซึ่งมารับบริการล้างแผลเป็นประจำทุก ๆวัน จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่งานเวชระเบียนเกิดความรู้สึกว่าการทำงานที่มากกว่าการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำด้วยความสุขกับการได้ให้บริการ และคงเป็นสิ่งเดียวกันกับที่คุณกัลยาแสดงออกถึงความสุขและความพึ่งพาใจในการมารับบริการ เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่คุณป้ากัลยามารับบริการที่โรงพยาบาลจอมทอง คุณป้าเดินมาถึงหน่วยงานเวชระเบียนแจ้งขอทำประวัติการรักษา ได้ยื่นเอกสารคือ บัตรประจำตัวโรงพยาบาล แล้วแจ้งต่อเราว่าได้ทำบัตรทองหาย ทางงานเวชระเบียนจึงแจ้งกับป้าว่าถ้าไม่นำหลักฐานบัตรทองหรือบัตรประชาชนมาแสดงจะต้องชำระเงิน สีหน้าของคุณป้าเริ่มเกิดอาการกังวลอย่างเห็นได้ชัดเจน ทางงานเวชระเบียนจึงแนะนำให้ทำบัตรทองใหม่โดยบอกขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ พร้อมทั้งโทรประสานศูนย์สิทธ์ในการดำเนินการทำบัตรทอง ได้สักพักใหญ่ใหญ่ คุณป้ากลับมาด้วยรอยยิ้มแล้วยกมือไหว้เจ้าหน้าที่งานเวชระเบียน พวกเรายกมือรับไหว้ป้ากันแทบไม่ทัน เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเท่านี้ในรอยยิ้มที่เราพบเจอได้ในส่วนน้อย แต่เราก็ได้รับรอยยิ้มและคำทักทายเป็นประโยคสั้นๆทุกๆ วัน ว่า “กิ๋นข้าวละกาเจ้า?”(กินข้าวหรือยังค่ะ?) “คนไข้นักก้อเจ้าวันนี้?”(วันนี้คนไข้เยอะหรือเปล่าค่ะ?) ทางเราจะทักทายกลับไปเสมอ ด้วยประโยคสั้น ๆ เช่น “วันนี้ใครมาส่งเจ้า?” (วันนี้ใครมาส่งค่ะ?) เป็นต้น แล้วจะตบท้ายด้วยการยิ้มให้กัน พร้อมการยกมือไหว้จากป้าและการยกมือรับไหว้ของเรา บางครั้งเราต้องชิงยกมือไหว้ก่อนเนื่องจากป้าเป็นผู้ใหญ่กว่า ถึงตอนนี้เราเริ่มเข้าใจว่าเพียงค่าคำพูดแนะนำไม่กี่คำ การยกหูโทรศัพท์เพื่อกดประสานงานที่เรามองเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่กลับทำให้ผู้รับบริการประทับใจได้ ตอนนี้รอยยิ้มที่ได้รับเป็นเหมือนกำลังใจให้กันและกัน เรามีกำลังใจที่จะปฏิบัติงานให้มากกว่าที่ได้รับมอบหมาย และรอยยิ้มจากเราคงทำให้ป้าเป็น 1 คนที่อย่างมาโรงพยาบาลด้วยความสุข ขอบคุณรอยยิ้มที่เกิดขึ้นบนโลกนี้
วันนี้คุณยิ้มให้ใครบ้างหรือยังค่ะ?
เรื่องเล่าจากตึกพิเศษชั้น 5
เมื่อเดือนตุลาคม 2551 พวกเรารับคนไข้คนหนึ่ง สภาพที่เห็นครั้งแรกคนไข้ตอบสนองต่อความเจ็บปวด เรียกไม่พูด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนไข้ถูกโกนผมมีแผลผ่าตัดบริเวณเหนือกกหู ด้านซ้าย ใบหน้าบวม ตาบวมช้ำเป็นสีม่วงทั้งสองข้าง คนไข้ได้รับการผ่าตัด craniotomy จากโรงพยาบาลมหาราชได้ 3 วันเนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก ทางโรงพยาบาลมหาราชให้กลับมารักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
ในตอนนั้น ทั้งเจ้าหน้าที่และญาติที่ดูแลยอมรับว่า ความหวังที่คนไข้จะฟื้นฟูได้มีน้อยมาก ยิ่งทางโรงพยาบาลมหาราชไม่ได้ให้ความหวังกับญาติไว้ด้วย สำหรับบันทึกข้อความส่งต่อของทีมสุขภาพ ก็ให้การรักษาแบบ supportive treatment และให้แผนการรักษาโดยให้อาหารทางสายยาง ให้สารละลายทางหลอดเลือด และยาที่จำเป็นต่างๆ ส่วนของพยาบาลก็ได้ทำหน้าที่โดยพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง ดูแลให้ได้รับความสบายทั่วไป ความสะอาดของสิ่งแวดล้อม แนะนำให้ญาติทำ passive exercise และ mental support ญาติ
ไม่หน้าเชื่อว่า เวลาผ่านไปประมาณ 7-8 วัน คนไข้เริ่มตื่น เริ่มขยับแขนขาได้บ้าง ภรรยาและลูกคนไข้ดีใจมาก มีกำลังใจในการดูแลมากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อแพทย์ให้คนไข้ทดลองรับประทานอาหารนิ่มๆได้ คนไข้จึงมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความยินดีของญาติและทีมสุขภาพที่ช่วยกันดูแลเป็นระยะเวลานาน ประมาณ 1 เดือน จนเกิดความคุ้นเคยกันเปรียบเสมือนญาติ
ตอนนี้ คนไข้ยังมาเยี่ยมเจ้าหน้าที่พิเศษ ชั้น 5 อยู่เรื่อยๆ โดยใช้ไม้เท้าขาเดียว สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง อารมณ์ดี พูดคุยสนุกสนานและทุกครั้งที่เจอกันมักจะพูดว่า ไม่น่าเชื่อว่าจะมีวันนี้ วันที่เรา (ตัวคนไข้กับเจ้าหน้าที่)จะได้มาพูดคุยกัน ตัวเขาเองก็ไม่นึกว่าจะดีขึ้นเพราะเมื่อสอบถามอาการของตัวเองจากภรรยา พร้อมกับเห็นภาพที่ลูกชายและเจ้าหน้าที่ได้ถ่ายไว้ เขาแทบไม่เชื่อว่าเขาจะมีอาการดีขึ้นอย่างผิดคาด
ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาได้รับจากโรงพยาบาลจอมทอง เขาบอกกับเรา
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment